ฝ่าวิกฤติคิดบวก…ด้วย 10 คำถามมหัศจรรย์

Posted in Management, Skill Lesson, Special Contents

Facebook Twitter Email

(โดย ดร. นพ. ยุทธนา ภาระนันท์. 14 April 2014)

แม้มือซ้ายจะชนะมือขวา ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

หลังจากผลสอบวิชาศิลปะผ่านฉลุย แต่วิชาคณิตศาสตร์ออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ พ่อจึงให้เวลาเพื่อติววิชานี้กับลูกบอยซึ่งอยู่ชั้นป. 1
“ชาวนาคนหนึ่งโกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่เห็นกระต่าย 5 ตัวกำลังกินผักกาดหอมของเขาอยู่ เขาจึงยิงกระต่ายตัวหนึ่ง แล้วเหลือกระต่ายกี่ตัว?” พ่อถามขึ้นมา พร้อมกับคิดในใจว่าทดสอบเรื่องบวกลบเลขง่ายๆ อย่างนี้ไม่น่าตอบผิดนะลูก
ลูกบอยยกนิ้วทั้งห้ามานับ แล้วหักออกไป 1 นิ้ว พร้อมกับขมวดคิ้วนิดหน่อย หันมองหน้าพ่อพร้อมกับยิ้มๆแบบรู้ทัน ตอบด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “จะไปเหลือกระต่าย 4 ตัวได้ยังไงล่ะพ่อ มันก็วิ่งหนีกันไปหมดนะซิครับ”

คำตอบของลูกบอยถูกต้องใช่มั้ยครับ…เรื่องนี้สอนเราบางอย่างว่า สมองของมนุษย์เวลาคิดแก้ปัญหาสามารถใช้ทั้ง 2 ซีกร่วมกันได้ (อาทิ สมองซีกซ้าย เด่นเรื่อง คณิตศาสตร์ การใช้เหตุผล การแยกแยะ, ส่วนสมองซีกขวา เด่นเรื่อง ศิลปะ จินตนาการ เห็นภาพรวม เป็นต้น)
ครั้งหนึ่งผมไปบรรยายเรื่อง “ถอดรหัส 7Habits plus ไขพลังคิดบวก คิดสร้างสรรค์” ให้แต่ละกลุ่มทำกิจกรรมเล่าเรื่องเร้าพลัง โดยใช้ 12 คำที่เหมือนกัน พอทำเสร็จให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอเรื่องราว ปรากฏว่าผลออกมาเป็นเรื่องราวแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าเขาจะจินตนาการด้วยพลังสมองซีกขวาออกมาเป็นแบบไหนอย่างไร ทำให้ทุกคนได้ข้อคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมาได้จากการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมนี่แหละมาเชื่อมต่อกันในมุมมองใหม่ด้วยจินตนาการที่เป็นของตัวเอง
เช่นกันครับ การคิดบวก วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือใช้พลังสมองซีกขวาการจินตนาการด้านบวกให้ออกมาเป็นเรื่องราว จากนั้นใช้พลังสมองซีกซ้ายคัดสรร แยกแยะสิ่งดีๆ จากเรื่องราวนั้นๆ ออกมาแล้วปรับแต่งจนใช้การได้
วันนี้ ผมขอเสนอทักษะคำถามมหัศจรรย์ (Miracle question) เป็นการกระตุ้นสมองซีกขวาให้จินตนาการเหตุการณ์หลังจากปัญหาคลี่คลายแล้วว่าเป็นอย่างไร แล้วมองกลับมาว่าการคลี่คลายดังกล่าว หน้าตามันเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำให้เราก้าวข้ามกรอบความคิดเก่าๆ อารมณ์ด้านลบ ตลอดจนการยึดติดกับเหตุผลเดิมๆ ไปได้…(Adapted from Wikipedia, the free encyclopedia.2010)

ทักษะคำถามมหัศจรรย์ (Miracle question) (กรุณาศึกษาเพิ่มเติมที่ http://HowAreYou.co.th)
กรุณานึกถึงปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกสัก 1 เรื่อง แล้วจินตนาการเรื่องราวผ่านการตอบคำถามต่อไปนี้…

เมื่อท่านเข้านอนคืนนี้ ขณะที่ท่านหลับได้เกิดอัศจรรย์บางอย่างขึ้นและทำให้สถานการณ์ปัญหาที่เผชิญอยู่คลี่คลาย
ลงได้ และแล้วท่านก็ตื่นนอนในเช้าวันรุ่งขึ้น…(กรุณาตอบโดยอาศัยจินตนาการต่างๆ อย่างมีอิสระ)
1. เหตุการณ์ปัญหานั้น เปลี่ยนไปเป็นอย่างไร (เพราะปัญหาคลี่คลายแล้ว)
2. ทำให้ฉันรู้สึกอย่างไร, พฤติกรรมแรกที่เปลี่ยนไปของฉันคืออะไร
3. ฉันสังเกตเห็นว่าอะไรเกิดขึ้น (เพราะทุกอย่างลงตัว ไปกันได้ด้วยดี)
4. คนอื่นจะปฏิบัติต่อฉันอย่างไร เมื่อเห็นฉันเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง
5. ความห่วงกังวลที่เคยมีลดลงใช่หรือไม่, อะไรที่เกิดขึ้นที่ทำให้ฉันลดความห่วงกังวลลง
6. ฉันรู้ได้อย่างไรว่าปัญหานั้นดีขึ้นแล้ว, อะไรเป็นสัญญาณบ่งชี้
7. อะไรทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
8. ใครเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นเป็นจริง เขาคนนั้นทำอะไร
9. คนอื่นๆรู้ได้อย่างไรว่า ปัญหาได้คลี่คลายลงแล้ว, อะไรเป็นสัญญาณบ่งชี้
10. ใครน่าจะเป็นคนที่รู้ก่อน, เขาจะพูดถึงเรื่องดังกล่าวว่าอย่างไร
เพื่อคัดสรรสิ่งดีๆ ออกมาจากคำตอบข้างต้น (ซึ่งมีไอเดียบางอย่างที่ผุดมาแล้วนั้น) นำมาพิจารณาต่อว่า
1. แรงกดดันจากปัญหานี้ลดลงจาก คะแนนเต็ม 10 ลดเหลือเท่าไร?
2. สรุปว่า ปัญหานี้ ฉันจะรับมือด้วยวิธีใดบ้าง?
3. นับจากนี้ไป ฉันมั่นใจว่าสามารถรับมือปัญหานี้ได้กี่เปอร์เซ็นต์?
4. ปัญหานี้ทำให้ฉันได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม?

เพื่อพัฒนาในเรื่องนี้ ผมมีหลักสูตรแนะนำ ได้แก่ ปลุกยักษ์ให้ตื่น…ด้วยพลังคิดบวก (Positive thinking), คิดเก่ง คิดเป็น…ด้วยพลัง Smart Brain, คิดเชิงระบบอย่างผู้นำที่เหนือชั้น (Systems thinking) และท่านสามารถดูตัวอย่าง Workshop ที่ https://www.youtube.com/user/yparanan/videos, สนใจกรุณาติดต่อผมผ่าน e-mail ที่ Yparanan@Gmail.com หรือฝากข้อความผ่าน facebook ที่ www.facebook.com/yparanan

————
ข้อมูลอ้างอิง

Source: Adapted from Wikipedia, the free encyclopedia (2010). Solution focused brief therapy.
Retrieved Apr 14,2010. from http://en.wikipedia.org/wiki/Solution_focused_brief_therapy

468 ad