ยิ้มใสๆ “คิด” สวยๆ ติดปีกธุรกิจให้บินปร๋อ

Posted in News

Facebook Twitter Email

คงไม่มีใครปฏิเสธว่ารอยยิ้มและเสียงหัวเราะทำให้โลกผ่องใสเบิกบานยิ่งสังเกตตัวเราเองยิ่งชัด..วันไหนครึ้มอกครึ้มใจหัวสมองจะแล่นฉิวสนุกกับการทำงานไม่รู้เหนื่อย..โดยไม่ต้องยกซดเครื่องชูกำลังแต่ถ้าตื่นเช้าวันไหนเกิดอาการมึนๆ งงๆ หรืออกหักรักคุดเพราะแฟนเพิ่งบอกลาจะรู้สึกว่าไม่มีกะจิตกะใจอยากไปทำงานหรือหากต้องไปก็ทำแบบแกนๆ อย่างเสียไม่ได้…ลองคิดดูว่าผลงานมันจะแตกต่างกันเพียงใดธุรกิจในช่วงที่โลกกำลังก้าวล่วงสู่ศตวรรษที่ 21 จึงต้องตีลังกาคิดทบทวนถึงความสำคัญของ “มนุษย์” เสียใหม่ หลังจากที่เอ็นดูเครื่องจักร และรักเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำแบบหัวปักหัวปำมานาน

“ฮาร์วาร์ด บิซิเนส สคูล” สถาบันที่เลื่องชื่อด้านบริหารจัดการ ก็ยังบอกว่า ธุรกิจนั้นมีปัจจัยสู่ความสำเร็จเพียง 3 ข้อที่ต้องใส่ใจอย่างจริงจังเท่านั้น โดยไม่ต้องปวดหัวพินิจพิเคราะห์จนรอบด้านประมาณ 360 องศา นั่นคือ 1.ลูกค้า 2.พนักงาน และ 3. คู่ค้า ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับ “คน” ทั้งสิ้น
“คน” ก็คงคล้าย “ต้นไม้” หากจะผลิดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ก็ต้องใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดินเช่นเดียวกัน แต่คนอาจต่างกว่านิดเพราะต้องมีทั้งอาหารสมองและอาหารใจ

ซึ่งในเชิงจิตวิทยาแล้ว “ใจ” คือส่วนที่เป็นใหญ่ “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” เป็นคำที่กล่าวขานตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งยังไม่เคยมีใครยกมือคัดค้านมันเลย
ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกธุรกิจแข่งขันกันอย่างสุดขีด มนุษย์ปุถุชนแต่ละคนลำพังแค่ถูกมดกัด แมลงวันเกาะ ก็ยังหงุดหงิดรำคาญใจ หากต้องเผชิญหน้ากับความ “เครียด” อันเนื่องมาจากเป้าหมายของงานที่สูงขึ้นๆ ขณะที่ชีวิตจะลาขาดจากมันก็ไม่ได้เพราะหมายถึงปากท้องที่ต้องอดอยาก แล้วจะต้องใส่ปุ๋ยสูตรไหน ถึงจะทำให้ต้นไม้นี้งดงาม

ดร.นพ.ยุทธนา ภาระนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮาว อาร์ ยู จำกัด และยังเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษาและบำบัดได้แนะนำว่า ไม่มียาอะไรวิเศษเท่ากับพลังของความ “คิดเชิงบวก” ก่อนอื่นต้องพิจารณาดูว่า คุณเองมีความคิดเชิงบวกหรือไม่ จากองค์ประกอบ 4 ด้านดังต่อไปนี้ องค์ประกอบแรก ความเชื่อมั่นในสมรรถนะของตนเอง (Self efficacy) คุณลักษณะที่ชี้ชัดคือ ความกล้าหาญ, ตอบสนองสิ่งท้าทายอย่างมั่นใจ, บริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ, มีความเชื่อมั่นและเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพ หมายถึงความมั่นใจว่าความสามารถของตัวเองนั้นเพียงพอ ในการรับมือและเอาชนะต่อสิ่งท้าทายที่ต้องเผชิญ องค์ประกอบที่สอง ความหยุ่นตัว (Resiliency) คุณลักษณะก็คือ ความกระตือรือร้น, ความฉลาด, รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา, อดทนต่อสิ่งกำกวมและเข้ากันได้ดีกับผู้อื่น หมายถึง ความสามารถด้านบวกในการต้านทานและรับมือกับความเครียดและอุปสรรคปัญหา ทั้งยังสามารถรื้อฟื้นตนเองกลับสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วหลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก มุ่งมั่นว่า “สักวันต้องเป็นวันของเรา”

องค์ประกอบที่สาม ความหวัง (Hope) คุณลักษณะคือ ความพยายามมุ่งมั่น, ต้องการความสำเร็จ, กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน, มองการณ์ไกล, ความมีพลัง & ภาวะผู้นำหมายถึง ความรู้สึกด้านบวกต่อจุดมุ่งหมาย (Goal) ว่าจะสำเร็จได้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นพากเพียร (Willpower) ในการค้นหาและทำตามกระบวนวิธี (Waypower) เพื่อสู่จุดมุ่งหมายนั้น เป็นคนที่ไม่หวั่น (แม้วันมามาก) องค์ประกอบที่สี่ การมองโลกในแง่ดี (Optimism) คุณลักษณะคือ การมองโลกในแง่ดี คิดบวก, มีความคิดสร้างสรรค์, มีบุคลิกภาพที่เป็นมิตร, ยิ้มง่าย อารมณ์ดี และแก้ปัญหาได้ดี หมายถึง ความสามารถในการคาดหวังผลลัพธ์ด้านบวกท่ามกลางอุปสรรคปัญหา เป็นมุมมองที่เชื่อว่าโลก บุคคลและเหตุการณ์นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ดีต่อกันจึงย่อมเกิดผลอันดีในที่สุด

เชื่อแน่ว่าคงไม่มีใครหรือน้อยคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นครบถ้วนคนที่มีครบถือว่าเป็นผู้ชนะเลิศและเป็นที่น่าอิจฉาแต่ก็มีทักษะที่จะช่วยพัฒนาให้ตัวเรามองโลกในแง่ดี และดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ
คือให้ลองคิดถึงคำถาม 5 ข้อ เวลาที่เจอะเจอปัญหาที่ทำให้ปวดหัวจี๊ดจนแทบคลั่ง
ข้อที่1. ถ้าหนักกว่านี้อาจเป็นอย่างไร แต่ยังดีนะที่มันไม่เกิดขึ้น (มองผลกระทบ)
ข้อที่ 2. มีใครที่พอจะสนับสนุนช่วยเหลือได้บ้าง (มองหาความสนับสนุน)
ข้อที่ 3. มีอะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง ในตอนนี้ แม้จะไม่มาก็ตาม เพื่อคลี่คลายปัญหาและผลกระทบ (มองการควบคุม)
ข้อที่ 4. เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เราเรียนรู้อะไร ฝึกฝนเราในเรื่องอะไร (มองหาข้อดี)
และข้อที่ 5. เรื่องที่เกิดขึ้นเริ่มขึ้นเมื่อใด และคาดว่าจะบรรเทาและสิ้นสุดลงเมื่อใด (มองหาเวลาสิ้นสุด)

ในกระบวนการอบรมขององค์กรที่เก่งหรือที่เรียกว่า สมรรถนะสูง (High Performance Org.) นอกจากความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะแล้วปัจจุบันยังมุ่งเน้นให้พนักงานเกิดความคิด ทัศนคติที่ดี เพราะเชื่อว่ามันเป็นเหตุที่ออกแบบ “ผล” ของการกระทำหมอยุทธนา บอกว่า โลกของการทำงานนั้นต้องเน้น “แตกต่างเพื่อเติมเต็ม” เพราะการทำงานเป็นทีมย่อมดีกว่าวันแมนโชว์ “สองหัวดีกว่าหัวเดียว”คุณสมบัติของการมองโลกที่ดีจะช่วยให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างคนในทีมงาน ที่สุดจะประสบความสำเร็จ

“ในชั่วโมงทำงาน บางครั้งจะห้ามไม่ให้เครียดเลยก็ไม่ได้แต่มันก็มีวิธีที่แสนง่าย สำหรับผมเองใช้วิธีเข้า “ห้องน้ำ” มันช่วยให้เราเปลี่ยนอิริยาบถแล้สามารถนั่งนิ่งๆ หายใจลึกๆ แล้วหลับตาเพื่อถามความรู้สึกตัวเองเบาๆ ว่า เป็นอะไร เมื่อยตรงไหน อารมณ์เป็นอย่างไร จะทำให้เรารู้ซึ้งว่าเราเจ็บ เราปวด เรารู้สึกอย่างไรแล้วค่อยๆ บอกตัวเองให้ผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยให้เราดีขึ้น”

เมื่ออ่านถึงบรรทัดนี้คุณคงมีความรู้สึกอยากจะลุกไปเข้า “ห้องน้ำ” แต่ต้องทำใจเพราะมันอาจจะ “ไม่ว่าง”…ซะแล้วววว

468 ad